วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ตลาดสี่แยกท่าไข่ ในรัชกาลที่ 5

เกล็ดเล็ก เกล็ดน้อย ของ ตลาดโบราณคลองนครเนื่องเขตในปัจจุบัน หรืออีกนัยหนึ่ยก็คือ ตลาดสี่แยกท่าไข่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตลาดสี่แยกท่าไข่น่าจะมีมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง เสด็จประพาสคลองแสนแสบ เมื่อ พ.ศ. 2450 เสด็จเปิดทางรถไฟสายเหนือ ตั้งแต่ ปากน้ำโพ ถึงเมืองพิษณุโลก สายตะวันออก ถึงเมืองฉะเชิงเทรา ทำพิธีเปิดในบริเวณสถานีกรุงเทพ ฯ เสร็จแล้วเลยเสด็จไปประพาสเมืองฉะเชิงเทรา โดยทางรถไฟ ในการเสด็จครั้งนี้ พระบาทสมเด็จสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับสี่แยกท่าไข่ วัดสงสาร (ปัจจุบัน เรียกวัดชนะสงสาร) ตำบลเนื่องเขต (ปัจจุบันเรียก ตำบลคลองนครเนื่องเขต) ไว้ตอนหนึ่งว่า “ วันที่ 30 มกราคม ร.ศ.126 (พ.ศ. 2450) ออกเรือ 2 โมงกับ 19 นาที เข้าประตูน้ำ ไม่ช้า เหตุด้วยเป็นเวลาน้ำขึ้น เปิดน้ำไม่ถึงศอกได้ระดับ ตามที่แต่งเครื่องบูชาเสียแล้ว ข้อที่กรมมรุพงศ์ (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์ศิริพัฒน์ เป็นตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑลประจิน) คิดจะปิดนั้นไม่ปิดจนพลวกน้ำในคลองจับตลิ่งเป็นตะไคร่เหตุด้วยน้ำขัง มีเรือนฝากระดานราย ๆ ไปมาก ระยะต้นนี้ที่มากที่สุดบ้านท่าไข่ หมู่ที่ 9 พื้นเป็นท้องนา มีสะแกราย 5 โมงเช้าหยุดวัดสงสาร ทำครัวที่ศาลาริมน้ำ (เวลาเสด็จประพาสต้นทรงทำครัวเครื่องเสวยเอง) มูลเหตุแห่งชื่อวัดสงสารว่ามีกะฏิหลังเดียว ราษฎรศรัทธามาสร้างเพิ่มเติม สาสารจริงๆ ปิติ ไม่ใช่ สังสาเร กรมดำรงโจทย์ขึ้นว่า ถ้าจะเติมหน้าชื่อว่า วัดแสนสงสาร พระจะเอาหรือไม่ เราเป็นผู้ตอบแทนพระว่าไม่เอาจะเอาสุดสงสาร เพราะได้ทั้งสาเรด้วย ออกเรือ บ่าย 2 โมง อันที่จริงมีลมไม่สู้ร้อน วัดสงสารนี้อยู่ตำบลเนื่องเขตต์ เห็นจะยืมมาจากท้ายชื่อคลองนคร (เนื่องเขตต์) ” “ พ้นจากวัดสงสารมาไม่เท่าไร ถึงตำบลเรียกว่า สี่แยกท่าไข่ มีเรือนโรงปลูกติดๆกัน ตลอดจนมีตลาดขายเครื่องชำและของสด..........” ดังนั้นตลาดสี่แยกท่าไข่ น่าจะเกิน 130 ปี เพราะวัดชนะสงสาร เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 99 ตารางวา ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. 2365 แปลว่าวัดชนะสงสารถ้านับถึงปัจจุบัน มีมานานถึง 191 ปี ตลาดก็น่าจะพอ ๆ กับการสร้างวัด ข้อมูลวัดชนะสงสาร ที่มา http://www.m-culture.in.th/album/66312